ความแตกต่างของ “ป้ายทะเบียนรถ” แต่ละสี

ในปัจจุบันนี้บนท้องถนนมีรถยนต์อยู่มากมายเลยนะคะ และจะพบว่ารถหลายๆคันนั้นมีสีของป้ายทะเบียนที่แตกต่างกันด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นป้ายสีขาวธรรมดา ป้ายสีเหลือง ป้ายทะเบียนที่มีลวดลาย หรือรถป้ายแดงที่เป็นอันเข้าใจกันว่าเจ้าของรถเพิ่งถอยมาหมาดๆนั่นเองค่ะ บทความนี้จะมานำเสนอความหมายของสีป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แตกต่างกันนะคะ เรามาดูกันค่ะว่า ลักษณะป้ายทะเบียนพวกนี้มีความหมายว่าอะไร แต่ละสีแตกต่างกันอย่างไร พร้อมแล้วมาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ

 

ลักษณะป้ายทะเบียนรถที่ถูกต้อง

 

          ป้ายทะเบียนที่ออกโดยกรมขนส่งในปัจจุบัน ตัวแผ่นป้ายต้องทำจากโลหะ อลูมีเนียม ที่มีขนาดมาตรฐาน คือ “13.5×6 นิ้ว” โดยมีเลขทะเบียนรถยนต์ในการระบุรถยนต์ หรือยานพาหนะประเภทอื่นๆ ตัวเลขจะมีลักษณะถูกปั๊มนูนขึ้นมาจากแผ่นป้ายทะเบียน ส่วนพื้นป้ายจะมีสี และลักษณะที่แตกต่างกันไป เพื่อแบ่งแยกประเภทของรถยนต์ได้อย่างชัดเจน

 

ป้ายทะเบียนรถแบ่งประเภทรถยนต์หรือพาหนะ ดังต่อไปนี้

 

 

 

1. ป้ายสีขาวสะท้อนแสง ตัวอักษรสีดำ

 

• สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รถยนต์ทั่วไป)
• รถจักรยานยนต์

 

2. ป้ายสีขาวสะท้อนแสง ตัวอักษรสีน้ำเงิน

 

• สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถตู้ เป็นต้น

 

3. ป้ายสีขาวสะท้อนแสง ตัวอักษรสีเขียว

 

• สำหรับบรรทุกส่วนบุคคลหรือรถกระบะ บางคันที่หลายคนพบเห็นเป็นตัวอักษรสีดำ
• หมายความว่ารถกระบะคันนั้นจดทะเบียนรถเพื่อเป็นรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล หากใช้ในการบรรทุกขนของ ถือว่าทำผิดกฎหมายทันที

 

4. ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวอักษรสีดำ

 

• สำหรับแท็กซี่ หรือ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน
• รถจักรยานยนต์รับจ้าง

 

5. ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวอักษรสีน้ำเงิน

 

• รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง

 

6. ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวอักษรสีเขียว

 

• รถยนต์รับจ้างสามล้อ

 

7. ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวอักษรสีแดง

 

• สำหรับรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด

 

8. ป้ายสีเขียวสะท้อนแสง ตัวอักษรสีขาวหรือสีดำ

 

• รถยนต์บริการธุรกิจ, รถยนต์บริการทัศนาจร, รถบริการให้เช่า

 

9. ป้ายสีส้มสะท้อนแสง ตัวอักษรสีดำ

 

• รถแทรกเตอร์, รถบดถนน, รถใช้งานเกษตรกรรม, รถพ่วง

 

10. ป้ายทะเบียนรถสีขาว (ไม่สะท้อนแสง) ตัวอักษรสีดำ

 

• เป็นป้ายทะเบียนรถยนต์ของคณะผู้แทนทางการทูต จะมีตัวอักษร ท นำหน้า/รหัสประเทศ/ขีด และตามด้วยทะเบียนรถตามลำดับ

 

11. ป้ายทะเบียนสีฟ้าไม่สะท้อนแสง ตัวอักษรสีขาว

 

• จะใช้ตัวอักษร พ นำสำหรับรถยนต์ของบุคคลในหน่วยงานพิเศษสถานทูต
สำหรับคณะผู้แทนทางกงศุลจะใช้ตัวอักษร ก นำแทน ถ้าเป็นส่วนทะเบียนรถขององค์การระหว่างประเทศ/ทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ จะใช้ตัวอักษร อ นำ แล้วตามด้วยหมายเลขทะเบียนรถ

 

12. ป้ายแดง ตัวอักษรสีดำ

 

• “รถใหม่ป้ายแดง” ความหมายจริงๆ ของป้ายแดงนั้น คือแผ่นป้ายที่ออกให้ทดแทน บ่งบอกว่ารถยนต์นั้นๆยังไม่มีการรับรองการจดขึ้นทะเบียนเรียบร้อยตามกฎหมาย หมายความว่ารถคันดังกล่าวสามารถขับขี่บนท้องถนนได้ชั่วคราว และต้องอยู่ในข้อกำหนดของ กรมการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัด

 

13. ป้ายลายกราฟฟิคสวยงาม

 

• ประเภทสุดท้ายป้ายลายกราฟฟิคสวยงามที่คุณเห็นตามท้องถนน หมายถึงป้ายที่ได้รับมาจากการประมูล ซึ่งจริงๆ แล้วจุดเด่นจะอยู่ที่ตัวเลขทะเบียน ที่เขาเรียกกันว่า “เลขทะเบียนสวย” เปิดประมูลโดยกรมขนส่งทางบก เป็นทะเบียนรถสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รถยนต์ทั่วไป)